มนัส โกศลเชื่อว่า สถานการณ์การเลิกจ้างปี 2552 นี้ จะมีคนตกงานถึง 1 ล้านคน โดยเฉพาะในกิจการประเภทสิ่งทอ ที่ขณะนี้ล้มไปเกือบทั้งระบบแล้ว เพราะไม่มียอดสั่งซื้อ โรงงานเกือบ 100% ที่ไม่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง ต้องรับจ้างต่างประเทศผลิต แน่นอนเมื่อนายจ้างต่างประเทศประสบปัญหาก็ย่อมกระทบมาถึงลูกจ้างคนงานไทย
มนัส ยังวิเคราะห์ต่อไปว่า กลุ่มที่น่าห่วงอีกกลุ่มงานประเภทอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ เนื่องจากกิจการประเภทนี้ส่วนใหญ่แล้วใช้แรงงานรับเหมาช่วงหากเกิดวิกฤติอะไร คนที่เสี่ยงที่สุดคือ แรงงานเหล่านี้เพราะนายจ้างไม่ต้องแบกรับภาระเรื่องค่าชดเชยในการเลิกจ้าง "ตรงนี้ยังน่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะประเทศไทยมีแรงงานประเภทดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน"
ขณะเดียวกัน ประเด็นการว่างงานที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ไม่แพ้คนตกงาน มนัสมองไปที่เด็บจบใหม่ ซึ่งแต่ละปีจบออกมากว่า 1 แสนคน โดยเฉพาะคนที่จบแค่เพียง ม.3 ปวส. ปวช. หรืออนุปริญญา ที่มีพื้นฐานไม่เท่ากัน ประกอบกับตลาดแรงงานที่ไม่มีตำแหน่งงานรองรับกลุ่มคนเหล่านี้บวกกับคนที่ตกงานประเมินได้ว่าไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนแน่นอน
ดังนั้น การที่รัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะการนำเงินจำนวนกว่า 18,000 ล้านบาท เพื่อมาแจกจ่ายให้กับผู้ประกันตนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท กว่า 8.3 ล้านคนนั้น มนัสกลับมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด แต่คนที่น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า คือ ห้างร้านขนาดใหญ่ ซึ่งมีผู้ประกอบการเป็นชาวต่างชาติ อาทิเช่น โลตัส แม็คโคร บิ๊กซี ฯลฯ
มนัสบอกว่า มันไม่ใช่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ซ้ำร้ายกว่านั้นยังจะทำให้เกิดปัญหาตามมาถึงขึ้นกระทบการบริหารประเทศต่อรัฐบาล อันเนื่องมาจากการเรียกร้องของกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่เป็นสมาชิกของประกันสังคม อาทิเช่น แรงงานนอกระบบ กลุ่มครูเอกชน ส่วนวิธีการจ่ายเงินก็เช่นกัน ใช้วิธีแจกจ่ายผ่านเช็คก็จะมีปัญหามาก เพราะเชื่อเลยว่าคนงานกว่า 70% ไม่เคยใช้เช็ค ทำให้เกิดคนหวังดีตั้งโต๊ะรับขึ้นเช็คหากินกับค่าธรรมเนียม หรือค่าขึ้นเช็ค นอกจากนี้คนงานจะไม่ได้อะไรเลยกรณีเช็คหายเท่ากับว่าสูญเปล่า
ที่สำคัญการจ่ายผ่านเช็คครั้งนี้ มีค่าดำเนินการสูงไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ธนาคารได้ไปเต็ม ๆ คิดว่าวิธีการจ่ายผ่านบัญชีธนาคารนั้นเหมาะสมที่สุด เพราะกระทรวงแรงงานมีฐานข้อมูลที่ชัดเจนอยู่แล้ว
" การให้เงิน 2,000 บาทนั้น ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาคนตกงาน คนว่างงานเลยเป็นการสูญเปล่าเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น รัฐบาลน่าจะนำเงินกว่า 20,000 ล้านตรงนี้ไปทำให้เกิดการจ้างงานในชนบท อาทิเช่น การขุดบ่อ ลอกคลอง สร้างถนน โครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะในภาคอีสาน นอกจากช่วยคนให้มีงานทำแล้ว ยังสร้างความเจริญให้กับภูมิภาคทั่วประเทศ ไม่ใช่ทำแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวัน ๆ "
ส่วนในเรื่องของการฝึกฝีมือแรงงานที่รัฐบาลจะนำเงิน 6.9 พันล้านไปดำเนินการ และจะให้เบี้ยเลี้ยงเดือนละ 2,000 บาท นั้น มนัสเห็นว่าต้องพิจารณาถึงอายุคนที่จะมาฝึกด้วยคนที่มีอายุตั้งแต่ 25-35 ปี ฝึกอบรมแล้วสามารถเข้าสู่ระบบได้ ส่วนที่อายุ 35 ปีขึ้นไป เข้าทำงานเป็นเรื่องยาก
มนัสเสนอว่า การแก้ไขและป้องกันปัญหาคนตกงานและคนว่างงานให้ได้ประสิทธิภาพนั้น รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ตั้งเป็นกองทุนป้องกันแก้ไขและช่วยเหลือภาคแรงงาน 5 มาตรการ ประกอบด้วย
1. ช่วยเหลือสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและไม่ต้องการปิดกิจการ
2. สถานประกอบการที่ชะลอการจ้างงานตามมาตรา 75 ใช้เงินกองทุนเพื่อพยุงความเป็นอยู่ของลูกจ้าง
3. กรณีลูกจ้างถูกเลิกจ้าง ต้องเข้ารับการฝึกอบรม
4. กรณีนายจ้างปิดกิจการ หรือลอยแพคนงาน และ
5. ให้จัดสรรเงินงบ 1,000 ล้านบาท สำหรับนักศึกษาที่จบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยการสร้างระบบฐานข้อมูล ฝึกอาชีพพร้อมเบี้ยยังชีพ
นอกจากนี้ มนัสยังมองว่า การช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างโดยเฉพาะสวัสดิการแรงงานที่รัฐบาลยังขาดไป ซึ่งองค์กรแรงงานต้องเรียกร้องผลักดัน ก็คือ สิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างกรณีกองทุนการว่างงานได้รับเงิน 70% ของอัตราค่าจ้างจากเดิมได้รับเพียง 50% ให้นายจ้างจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 2 เดือน หรือ 60 วัน ที่จากเดิมได้เพียง 1 เดือน
และเพิ่มเงินสิทธิประโยชน์ค่าสงเคราะห์บุตรเป็นเดือนละ 500 บาท โดยให้ตั้งแต่อายุ 1 -12 ปี ที่จากเดิมให้เพียงเดือนละ 350 บาท ให้ตั้งแต่อายุ 1- 6 ปี นอกจากนี้ จะผลักดัน พ.ร.บ.กองทุนชดเชยให้กับแรงงานถูกเลิกจ้าง
มนัส ทิ้งท้ายถึงบทบาทการต่อสู้ของขบวนการแรงงานที่นับวันยิ่งนับถอยหลัง " เป็นเพราะต่างคนต่างต่อสู้ ไม่เป็นเอกภาพ หลอมรวมอุดมการณ์กันไม่ได้ บางคนเปลี่ยนตัวเองไปสู้เพื่อการเมือง บางคนสู้ภายใต้ผลประโยชน์อะไรบางอย่าง แต่อย่างไรก็ตามเรากำลังพยายามรวบรวมกำลังพล เพื่อหวังยกระดับวงการแรงงานอีกครั้ง"